WHO Western Pacific
© Credits

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีนโยบายที่เข้มงวดขึ้นเพื่อคุ้มครองเด็กจากผลกระทบของการทำการตลาดอาหาร

13 July 2023
Highlights

องค์การอนามัยโลกได้ออกแนวทางปฏิบัติใหม่ว่าด้วยนโยบายปกป้องเด็กจากผลกระทบที่เกิดจากการทำการตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร แนวทางปฏิบัตินี้แนะนำให้ประเทศสมาชิกบังคับใช้นโยบายที่ครอบคลุม เพื่อปกป้องเด็กทุกช่วงวัยจากการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งมีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาลและโซเดียมในปริมาณสูง

 

กว่าสิบปีหลังจากที่ประเทศสมาชิกได้รับรองข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในปีค.ศ.2010 (2553) เด็กยังคงต้องเผชิญกับการตลาดเชิงรุกของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งมีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาลและโซเดียมในปริมาณสูง ซึ่งการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับผลเสียต่อสุขภาพ

 

แนวทางปฏิบัติฉบับปรับปรุงใหม่นี้พัฒนาขึ้นจากข้อค้นพบในการทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ซึ่งรวมถึงช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและอิทธิพลที่การตลาดมีต่อสุขภาพของเด็ก พฤติกรรมการบริโภค และทัศนคติหรือความเชื่อที่เกี่ยวกับอาหาร โดยสรุปแล้ว การทำการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณสุขและยังคงส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการตัดสินใจเลือกอาหารของเด็ก ตัวเลือกของอาหาร และปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังส่งผลในเชิงลบต่อการพัฒนานิสัยเกี่ยวกับการบริโภคอาหารของเด็กอีกด้วย

 

แนวทางปฏิบัตินี้พัฒนาขึ้นมาจากการทบทวนผลงานวิจัยอย่างเป็นระบบของการดำเนินนโยบายเพื่อควบคุมการตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร และพิจารณาปัจจัยบริบทของประเทศต่างๆ ซึ่งพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้นโยบายควบคุมการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การใช้เป็นนโยบายภาคบังคับ การปกป้องเด็กทุกช่วงวัย การใช้เกณฑ์จำแนกอาหารตามมาตรฐานโภชนาการที่ภาครัฐกำหนดในการจำแนกประเภทอาหารที่ต้องควบคุมการตลาด และ ความครอบคลุมของนโยบายที่จะป้องกันการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังช่วงวัยอื่นๆ หรือช่องทางสื่ออื่นๆ รวมทั้งช่องทางดิจิทัลด้วย นอกจากนี้ การควบคุมอิทธิพลของการทำการตลาดที่โน้มน้าวการตัดสินใจนั้นมีความสำคัญมาก ซึ่งรวมถึง การควบคุมการใช้ภาพการ์ตูนหรือเทคนิคที่ดึงดูดเด็ก เช่น การมีของเล่นแถมมากับผลิตภัณฑ์ การใช้เพลงโฆษณาและการใช้คนมีชื่อเสียงมานำเสนอผลิตภัณฑ์

 

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ดังกล่าว องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกบังคับใช้มาตรการควบคุมการทำการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาลและโซเดียมในปริมาณสูง ตลอดจนเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข้อยกเว้นสำหรับนโยบายที่หลากหลายมากกว่า การเปลี่ยนแปลงอีกประเด็นคือ แนวทางปฏิบัติฉบับล่าสุดนี้ใช้คำนิยามของเด็กตาม ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ เพื่อให้มีความเท่าเทียมของนโยบายที่จะปกป้องคุ้มครองเด็กทุกคน การเปลี่ยนแปลงอีกสองประเด็นของแนวทางปฏิบัติคือ การให้ประเทศสมาชิกใช้เกณฑ์จำแนกอาหารตามมาตรฐานโภชนาการซึ่งพัฒนาโดยภาครัฐ และการใช้นโยบายที่ครอบคลุมเพียงพอที่จะป้องกันการทำการตลาดในช่องทางอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงช่องทางที่มีการกำกับดูแล

 

“การตลาดเชิงรุกและแพร่หลายของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีปริมาณไขมัน น้ำตาลและโซเดียมสูง ที่มุ่งเป้าเด็ก เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเลือกอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” ดร.ฟรานเชสโก บรังกา ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและอาหารปลอดภัยแห่งองค์การอนามัยโลกกล่าว “การเรียกร้องให้บริษัททำการตลาดอย่างรับผิดชอบนั้นไม่ได้ผล ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการกำกับดูแลที่เข้มข้นและครอบคลุม”

 

การพัฒนานโยบายจากแนวทางปฏิบัตินี้ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ และภูมิภาคต่างๆขององค์การอนามัยโลก การนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศควรมีการหารือกันในระดับท้องถิ่นและมีกลไกเพื่อปกป้องคุ้มครองการพัฒนานโยบายด้านสาธารณสุขจากผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มที่จะเกิด

 

นโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กจากผลกระทบของการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของชุดนโยบายที่ครอบคลุมเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีในการบริโภคอาหาร ดังนั้นแนวทางปฏิบัตินี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของชุดแนวทางปฎิบัติเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมด้านอาหารที่กำลังจะออกมา แนวทางปฏิบัติทั้งหมดนี้มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนภาครัฐในการสร้างสภาวะแวดล้อมอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การสร้างนิสัยในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพไปชั่วชีวิต การพัฒนาคุณภาพของโภชนาการและการลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั่วโลก


เพื่ออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ: https://www.who.int/publications/i/item/9789240075412